Pa Mania Tales (เรื่องเล่าปามาเนีย) > Technics, Maintenance & Problem solving
ปาวาฬไม่สบาย!!!
หยก วาฬน้ำเงิน:
สวัสดีครับเพื่อนๆปามาเนีย วันนี้ผมมีเรื่องราวที่คิดว่าน่าสนใจและจะเป็นกรณีศึกษาให้กับสมาชิกบ้านปามาเนียของเราได้จดจำไว้เป็นข้อมูลและอาจนำไปเป็นอุทาหรณ์สอนใจต่อไป เรื่องที่ผมจะเขียนเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยของเจ้าวาฬน้ำเงิน (รถปาเจโร่คู่ใจของผม) และการวิเคราะห์อาการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการป่วยดังกล่าว
ตอนที่ 1: อารัมภบท
ก่อนที่จะเข้าเรื่องผมขออนุญาตเท้าความสักเล็กน้อยเพื่อปูพื้นให้พวกพี่ๆมีความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าวาฬน้ำเงินก่อนสักเล็กน้อยเพื่อที่จะอ่านเรื่องราวได้อย่างปะติดปะต่อและจะได้เข้าใจเรื่องราวไปพร้อมๆกันนะครับ คือว่าเจ้าวาฬน้ำเงินของผมถือกำเนิดที่ศูนย์มิตซูฯ ย่านพระราม 3 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ตลอดเวลาที่ผ่านมาวาฬน้ำเงินได้เข้ารับการตรวจร่างกายและเปลี่ยนถ่ายอะไหล่ที่จำเป็นตามโปรแกรมของศูนย์มาตรฐานมิตซูฯ มาโดยตลอดไม่เคยขาด จนกระทั่งผมเริ่มสัมผัสได้ถึงความไม่เป็นมืออาชีพของช่างและผู้ควบคุมช่างของศูนย์ดังกล่าว ดังนั้นหลังจากเข้าเช็คระยะ 40,000 กม.ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้บริการของอีกศูนย์หนึ่งในละแวกใกล้เคียงกัน ซึ่งผมคาดหวังว่าสถานที่แห่งใหม่นี้จะเป็นที่พึ่งของเจ้าวาฬน้ำเงินทดแทนศูนย์เดิมได้ แต่ผมคิดผิดถนัด ครั้งนี้การตัดสินใจของผมเปรียบเสมือน “หนีเสือปะจระเข้” แท้ๆ...
มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ คือว่ารถของผม (เจ้าวาฬน้ำเงิน) ครบกำหนดเช็คระยะ 50,000 กม. ผมจึงได้เปลี่ยนไปใช้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและเช็คระยะที่ศูนย์แห่งหนึ่งย่านถนนสาทรเหนือเพื่อรักษาสิทธิในการรับประกันตามสมุดคู่มือของมิตซูฯ เหมือนที่ทุกท่านทำเป็นปกตินั่นล่ะครับ และที่ศูนย์นี้นี่เองทำให้ผมเกิดความประทับใจอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่ช่วยแก้อาการเกี่ยวกับเบรคที่ศูนย์เดิมเป็นผู้สร้างปัญหาให้ผม ทั้งช่วยเคลมเปลี่ยนเทอร์โบลูกใหม่ และเคลมเปลี่ยนแกนพวงมาลัยให้ผมใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเชื่อสนิทใจว่าที่นี่จะเป็นที่พึ่งพิงของเจ้าวาฬน้ำเงินของผมได้ต่อไปอีกหลายปี จนกระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน 2557 วันที่ผมพาเจ้าปาวาฬเข้าไปตรวจเช็คสภาพพร้อมเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่งตามกำหนด 100,000 กม. ที่เลขไมล์ 100,099 กม.
ผมเข้าใจว่าในวันนั้นทางศูนย์น่าจะมีลูกค้าเข้าใช้บริการไม่มากเท่าไหร่ เพราะทีแรกแจ้งกับผมว่าจะขอแยกให้บริการเป็น 2 วันคือวันแรกตรวจเช็คตามระยะ 100,000 กม.ก่อนแล้วให้ผมมารับรถกลับ วันรุ่งขึ้นนำรถมาส่งที่ศูนย์แต่เช้าเพื่อเข้าโปรแกรมเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่งอีก 1 วัน และสามารถนำรถกลับได้ในวันเดียวกัน แต่ต่อมาทางศูนย์โทรมาแจ้งว่าวันนี้จะจัดการรถผมให้เสร็จทั้งสองอย่างเลยภายในวันเดียว พรุ่งนี้จะได้ไม่ต้องเข้ามาอีก ได้ฟังดังนั้นผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 1 วันจึงบอกทางศูนย์ให้ดำเนินการไปตามนั้น โดยไม่อาจรู้เลยว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะทำให้เจ้าวาฬน้ำเงินป่วยหนักเข้าขั้นรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วนในเวลาต่อมา
ป.ล. ตามปกติเมื่อพี่ๆนำรถเข้าศูนย์มาตรฐานของมิตซูฯ ทางศูนย์จะระบุในใบเสร็จรับเงิน (บางแห่งจะขึ้นป้ายบอกกล่าวผู้มาใช้บริการอย่างชัดเจน) ว่ารับประกันผลงาน 6 เดือนหรือ 10,000 กม. ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของมิตซูฯ ที่ศูนย์บริการทุกแห่งต้องยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติของศูนย์มิตซูฯมาตรฐานทั่วๆไปอยู่แล้ว
หยก วาฬน้ำเงิน:
ตอนที่ 2: น้ำดันมหันตภัยเงียบ
หลังจากชำระค่าบริการและค่าอะไหล่ต่างๆในราคามาตรฐานศูนย์ วันนั้นผมรับรถกลับมาใช้งานตามปกติและรถก็ไม่ได้มีอาการผิดปกติอันเกิดจากการใช้งานตามปกติให้เห็นแต่อย่างใด ในระหว่างนั้นผมได้มีโอกาสลองอัพเกรดท่อไอเสียจากท่อเดิมเป็นท่อ HKS Hipower ตามที่พี่ๆหลายท่านได้นำข้อมูลมารีวิวไว้แล้วในบ้านเรา และหลังจากติดตั้งท่อใหม่มาส่วนใหญ่ผมก็ใช้งานในเมืองเป็นส่วนใหญ่ มีโอกาสเดินทางไกลไปต่างจังหวัดเพียงครั้งเดียวคือในระหว่างวันหยุดยาวช่วงวันแม่ที่ผ่านมา โดยผมขับเจ้าวาฬน้ำเงินเดินทางไปเยี่ยมคารวะญาติผู้ใหญ่ที่จังหวัดนครสวรรค์และขับกลับภายในวันเดียวกัน
ตามปกติอุณหภูมิ (Temp) ที่อ่านได้จาก Smart Gauge (SMG) จะอยู่ระหว่าง 85-89 องศาและไม่เคยแตะถึง 90 องศาเลยสักครั้งถ้าไม่ได้ขับขึ้นสะพานทางด่วนแล้วกดแช่ยาวๆ แต่หลังจากทริปนั้นผมเริ่มรู้สึกว่าเจ้าวาฬน้ำเงินเริ่มมีอาการตัวร้อนผิดปกติ ถึงจะยังไม่มากเท่าไหร่แต่ก็ไม่น่าใช่อาการปกติอย่างแน่นอน กล่าวคือรถจะมีอุณหภูมิสูงเกิน 90 องศาหลังจากขับขึ้นที่จอดรถบนชั้น 7 ของอาคารจอดรถ ซึ่งตามปกติแล้วผมจะสังเกตทุกครั้งก่อนดับเครื่องว่า Temp จะอยู่ประมาณ 85+/- ไม่เกิน 2 องศา แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดปกติร้ายแรงอะไรเพียงแค่แปลกใจเฉยๆเท่านั้น
หลังจากนั้นวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ผมขับเจ้าวาฬน้ำเงินไปส่งญาติผู้ใหญ่ที่สนามบินดอนเมืองโดยใช้อาคารจอดรถที่ Terminal 2 และผมมักจะเลือกจอดที่ชั้น 3 ของอาคารจอดรถเป็นประจำเนื่องจากเป็นชั้นเดียวกับทางเดินที่เชื่อมต่อไปยังอาคารผู้โดยสารจะได้ไม่ต้องขึ้นลงลิฟท์หลายครั้ง แต่การจะขึ้นไปที่ชั้นนี้ได้นั้นพี่ๆที่เคยไปจะทราบว่าต้องไต่ทางชันขึ้นไปโดยใช้ความเร็วต่ำอยู่หลายสเต็ป ในจังหวะที่กำลังจะดับเครื่องยนต์มาสังเกตตรง SMG พบว่า Temp ขึ้นมาอยู่ที่ 95 องศาและกำลังไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ ทำไงดีล่ะทีนี้...ผมคิดในใจ เอาวะดับเครื่องเลยดีกว่า ไม่งั้น Temp มันอาจจะวิ่งขึ้นไปอีก SMG มันต้องร้องแน่ๆ (ปกติผมจะตั้งให้ SMG ร้องเตือนเมื่ออุณหภูมิขึ้นไปถึง 99 องศา) แต่วินาทีนั้นผมตระหนักดีแล้วว่าต้องมีความไม่ปกติอย่างใดอย่างหนึ่งกับเจ้าปาวาฬอย่างแน่นอน...เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร!!!
ในระหว่างที่เดินไปยังอาคารผู้โดยสารผมร้อนใจมากว่าอาการตัวร้อนดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไร ก้มมองนาฬิกาบอกเวลาประมาณสี่โมงเย็นกว่าๆ จึงรีบกดโทรศัพท์ไปถามหัวหน้าช่างที่ศูนย์ประจำย่านถนนสาทรเหนือที่ว่า หลังจากเล่าอาการให้หัวหน้าช่างฟังแล้วก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ลองเอามือหมุดพัดลมฟรีปั๊มดูว่ามันหนืดๆมือหรือเปล่า ผมบอกกับช่างว่าตอนนี้ไม่ได้อยู่กับรถ เดี๋ยวทำธุระเสร็จแล้วจะลองตรวจดู
หลังจากส่งญาตผู้ใหญ่ขึ้นเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว ผมกับผบ.ก็กลับมาที่รถอีกครั้งลองเอามือหมุนพัดลมฟรีปั๊มดูก็ปรากฎว่ามันหนืดๆฝืดๆเป็นปกติดี ผมภาวนาในใจขอให้อาการตัวร้อนนั้นหายไปเถิด...เพี่ยง พอสตาร์ทรถก็ธรรมดาครับ Temp ตกลงไปอยู่ที่ประมาณ 70 กว่าๆเพราะจอดไว้ร่วม 2 ชั่วโมง จึงได้ขับออกไปตามปกติระหว่างขับก็กังวลว่าความร้อนจะขึ้นมาอีกหรือเปล่า เลยพลอยไม่กล้าเหยียบคันเร่งได้แต่ประคองที่ความเร็วพื้นๆไปเรื่อยๆ ต่อมาพอออกเส้นพระราม 5 ถนนค่อนข้างโล่ง ผมลืมเรื่องอาการตัวร้อนไปชั่วขณะเลยไม่ได้มอง SMG แต่ก็ยังประคองความเร็วอยู่ที่ไม่เกิน 110 กม./ชม. อยู่ๆ SMG มันก็ร้องเตือนขึ้นมาอีกครั้งคราวนี้ร้องยาวเลยครับ ผมยอมรับว่าตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกได้แต่ประคองรถค่อยๆเข้าจอดข้างทาง ขณะนั้น SMG แสดงผล Temp อยู่ที่ 102 องศา (ในขณะที่เกจ์ความร้อนบนแผงหน้าปัทม์คอนโซลยังแสดงค่าความร้อนเป็นปกติอยู่)
หลังจากที่สับสนอยู่ช่วงหนึ่งใจหนึ่งก็คิดว่ารอเครื่องเดินเบาอีกสักพัก Temp มันคงจะลดลงไปเองมั้ง แต่พอเห็นว่านานแล้ว Temp ก็ยังไม่ยอมลดเลยตัดสินใจดับเครื่องยนต์กับเดินไปเปิดฝากระโปรงหน้า และรีบโทรหาพี่ท่านนึงในบ้านที่เคยมีปัญหาเรื่องความร้อนมาก่อนก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ตรวจดูบริเวณหม้อน้ำแต่อย่าเพิ่งเปิดฝาหม้อน้ำนะ ตรวจดูคร่าวๆพบว่าน้ำในหม้อพักน้ำของหม้อน้ำถูกดันจนล้นออกมาทางท่อน้ำล้น ที่รู้เพราะว่าเห็นคราบน้ำยาหม้อน้ำเปื้อนอยู่ตรงข้างๆหม้อกรองอากาศ ขณะนั้นผมคิดอะไรไม่ออกแต่เนื่องจากผบ.นั่งมาด้วยเลยคิดว่าทำยังไงก็ได้ให้ขับรถออกไปได้ก่อน เลยตัดสินใจปิดการทำงานของกล่องปิ่นโตเหลือไว้แต่กล่องคันเร่งแล้วสตาร์ทรถขับประคองไปจนถึงบ้าน
หยก วาฬน้ำเงิน:
ตอนที่ 3: ความลับที่ถูกเปิดเผย
คืนเดียวกันนั้นเอง (16 สิงหาคม 2557) ที่พี่ๆปามาเนียมีการนัดรวมตัวกันเพื่อปรึกษารูปแบบงานประจำปีกันที่บ้านพี่โย หลังจากทำธุระส่วนตัวที่บ้านเสร็จเรียบร้อยจึงตามไปสมทบ หลังจากประชุมเรื่องคอนเซ็ปงานประจำปีเสร็จเรียบร้อยพวกพี่ๆก็พากันมารุมวิเคราะห์อาการรถผม เหตุการณ์หลังจากนี้พวกเราได้ตรวจพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเจ้าวาฬน้ำเงินอยู่ 3 อย่างด้วยกันอันได้แก่
1. น้ำในหม้อน้ำขาดหายไปบางส่วนจนต้องใช้น้ำจากก๊อกน้ำสะอาดมาเติมลงไปที่ฝาหม้อน้ำประมาณ 750 cc. (ครึ่งขวดน้ำอัดลม 1.5 ลิตร)
2. น้ำยาหม้อน้ำที่อยู่ในรถผมไม่ใช่น้ำยาหม้อน้ำมาตรฐานของมิตซูฯ สันนิษฐานว่าเป็นน้ำยาหม้อน้ำที่มีวางขายตามร้านคาร์แคร์ทั่วไป เนื่องจากสีของน้ำยาหม้อน้ำของมิตซูจะเป็นสีเขียวใสมรกต แต่น้ำยาหม้อน้ำที่อยู่ในรถผมมีสีเขียวขุ่นและสะท้อนแสง
3. เมื่อเปิดฝาหม้อน้ำสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ พบว่ามีฟองอากาศขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 0.5-1.0 ซม.ผุดขึ้นมาจากด้านในหม้อน้ำตลอดเวลา
พี่ๆช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุ
น้ำยาหม้อน้ำในรถผม (สีเขียวสะท้อนแสง)
น้ำยาหม้อน้ำของมิตซูฯ (สีเขียวแฟนต้า)
คลิปอาการที่ตรวจพบครั้งแรก
http://www.youtube.com/watch?v=AOxgkjhsF9c
จากการสันนัษฐานของพี่ๆผู้สันทัดกรณีต่างฟันธงว่าอาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากปะเก็นฝาสูบแล็บ หรือถ้าจะร้ายแรงกว่านั้นก็คือฝาสูบโก่งตัวเนื่องจากความร้อนสะสมในเครื่องยนต์แล้วระบายไม่ทัน แต่สาเหตุมันเกิดจากอะไรล่ะ???!!!
เช้าวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2557 ผมนำรถเข้าไปให้ที่ศูนย์เดิมย่านถนนสาทรเหนือเพื่อแจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นและตรวจสอบอาการที่พบ ตอนที่เจอหัวหน้าช่างผมถามว่าทำไมที่ศูนย์ไม่ใช้น้ำยาหม้อน้ำของมิตซูล่ะ? ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ซึ่งสามารถกำหนดเองได้ว่าจะใช้น้ำยาหม้อน้ำของอะไรก็ได้ ผมนึกในใจว่าจริงเหรอฟร่ะ??? นี่เราเข้าศูนย์มาตรฐานมิตซูแต่ไม่ใช้น้ำยาหม้อน้ำของมิตซู แล้วไม่เคยมีใครบอกให้ผมทราบเรื่องนี้มาก่อนเลยครับให้ไปสาบานที่ไหนก็ได้
หลังจากส่งรถให้ศูนย์แล้วผมได้โทรศัพท์ไปสอบถาม Call Center ของมิตซูสำนักงานใหญ่ (MMTH) ที่หมายเลข 02-529-9500 ผมต้องการทราบว่าการที่ศูนย์บริการมาตรฐานของมิตซูฯไม่ใช้น้ำยาหม้อน้ำของมิตซูแต่ใช้ของที่หาซื้อได้ทั่วไปตามตลาดนัดนั้นทางสำนักงานใหญ่ทราบเรื่องหรือไม่ และอนุญาตให้ดำเนินการตามนั้นหรือเปล่า ทางเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลรถพร้อมรายละเอียดการเข้าซ่อม และแจ้งว่าจะประสานงานไปยังศูนย์บริการดังกล่าวเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและจะติดต่อกลับในภายหลัง
หลังจากทิ้งรถไว้ทั้งวันตอนเย็นกลับไปรับรถหัวหน้าช่างได้แจ้งว่ารถผม “ปกติ” ให้รับรถกลับไปใช้งานได้ หลังจากรับรถกลับมาในวันนั้นผมคิดทันทีว่าการทำงานของช่างที่ศูนย์นี้ต้องมีอะไรไม่ปกติแน่ๆ ขนาดพวกพี่ๆที่ไม่ใช่ช่างยังสันนิษฐานได้ว่าอาการทั้ง 3 อย่างดังกล่าวน่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ช่างศูนย์กลับบอกว่าปกติให้ผมรับรถกลับไปใช้ได้โดยไม่พยายามตรวจหาสาเหตุที่มาของอาการดังกล่าวแต่อย่างใด เย็นวันนั้นผมขับรถกลับบ้านด้วยความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งเพราะรู้แน่ๆว่ารถมันไม่ปกติและศูนย์ยังไม่ได้แก้ไขอะไรให้ผมเลย
วันรุ่งขึ้นผมตัดสินใจนำรถเข้าไปให้ทางศูนย์ตรวจเช็คอาการซ้ำอีกครั้ง คราวนี้ผมขอให้หัวหน้าช่างติดเครื่องยนต์เปิดฝาหม้อน้ำรถผมเทียบกับรถคันอื่นอีก 2 คันที่จอดอยู่ในศูนย์นั้น ผลปรากฎว่ารถผมมีการแตกต่างจากรถอีก 2 คันอย่างชัดเจน กล่าวคือรถผมมีฟองอากาศผุดขึ้นมาจากด้านในตลอเวลาในขณะที่รถอีก 2 คันนั้นน้ำในหม้อน้ำจะนิ่งไม่มีฟองอากาศผุดออกมา ผมถามหัวหน้าช่างว่าอย่างที่เห็นนี้แสดงว่ารถผมมีอาการไม่เหมือนกับรถคันอื่นที่จอดอยู่ในศูนย์ อย่างนี้ยังจะบอกว่ารถผมปกติอีกเหรอครับ? ช่างมีอาการอ้ำอึ้งไม่ตอบคำถามผม ได้แต่ขอรับรถไว้ตรวจสอบอาการซ้ำอีกครั้ง
เย็นวันนั้นผมโทรไปสอบถามความคืบหน้าปรากฎว่าทางศูนย์ตรวจสอบอาการรถยังไม่เสร็จ ผมเลยบอกว่าอย่างนั้นผมทิ้งรถไว้ให้ 1 คืนเพื่อให้ศูนย์มีเวลาตรวจสอบอาการรถเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน จากการสอบถามวิธีการที่ศูนย์ใช้ในการตรวจสอบเบื้องต้นคือการอัดแรงดัน 2 psi เข้าไปในหม้อน้ำแล้วคอยดูว่าแรงดันคงที่หรือไม่ ถ้าหากพบว่าแรงดันตกลงแสดงว่าหม้อน้ำอาจมีการรั่ว อีกวิธีหนึ่งที่ทางศูนย์ใช้ตรวจสอบคือการสตาร์ทรถผมทิ้งไว้ทั้งวันแล้วคอยดูความร้อนว่าขึ้นไปถึงเท่าไหร่ นอกจากนี้ผมยังได้รับการบอกเล่าจากหัวหน้าช่างว่าได้นำรถของผมออกไปวิ่งจับอาการบนทางด่วนที่ความเร็วประมาณ 130 กม./ชม.แต่ก็ไม่พบว่ามีอาการ Overheat เกิดขึ้นกับรถผมแต่อย่างใด
หยก วาฬน้ำเงิน:
ตอนที่ 4: วิชาตัวเบาขั้นเทพ
เช้าวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ผมนัดหมายกับพี่ตูมตามเข้าไปที่ศูนย์ด้วยกันเพื่อสอบถามอาการและอยากจะทราบว่าทางศูนย์จะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้ เมื่อเข้าไปที่ศูนย์ผมกับพี่ตูมตามก็พบกับหัวหน้าช่างและรถผมจอดรออยู่เตรียมให้เจ้าของมารับกลับไป พี่ตูมตามได้ขอให้หัวหน้าช่างเปิดฝาหม้อน้ำรถผมและสตาร์ทรถเพื่อทดสอบ สักพักก็เริ่มมีฟองอากาศผุดขึ้นมาจากหม้อน้ำเหมือนเดิม แต่ผมสังเกตว่ายังมีอีกหนึ่งอาการที่เพิ่มขึ้นมาจากก่อนที่จะนำรถเข้าศูนย์ อาการที่ว่าคือน้ำในหม้อน้ำดันตัวจนล้นออกมาจากหม้อน้ำหกเรี่ยราดลงบนพื้นด้านหน้าต้วรถ และเมื่อได้รับคำถามว่า “พี่ช่วยบอกหน่อยได้ไหมครับว่าอาการอย่างนี้คือปกติหรือไม่ปกติ?” หัวหน้าช่างไม่กล้าตอบคำถามด้วยตัวเองเข้าไปเรียกผู้จัดการศูนย์ออกมาเจรจา
อาการน้ำดันนองเต็มพื้น
พี่ตามกำลังช่วยตรวจสอบอาการเจ้าปาวาฬ
คลิปแสดงอาการน้ำดันในวันไปรับรถ 21 สิงหาคม 2557
http://www.youtube.com/watch?v=lUSfCIY8aqg
สักพักผู้จัดการศูนย์ก็ออกมาบอกว่าเขาไม่สามารถตัดสินได้ว่าอาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับรถผมนั้นเรียกว่าปกติหรือไม่ปกติ เขาไม่ได้กำลังปฏิเสธความรับผิดชอบแต่เขาต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ MMTH โดยการแจ้งให้ทาง MMTH ส่งช่างเข้ามาตรวจสอบซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นวันไหน และในการตรวจสอบนั้นผมจะต้องทิ้งรถไว้ให้เขาถอดชิ้นส่วนต่างๆออกมาทำการทดสอบด้วย เช่น บอกว่าจะต้องถอดวาล์วน้ำในรถผมออกมาลองต้มดูว่าวาล์วเปิดมั๊ย ถ้าเปิดๆที่อุณหภูมิเท่าไหร่ ฯลฯ อ่านมาถึงตอนนี้ผมมีคำถามอยากจะถามพวกพี่ๆที่ติดตามอ่านเรื่องราวของผมมาโดยตลอดว่าถ้าเป็นรถพี่ๆจะเลือกดำเนินการอย่างไรระหว่าง
1. ยอมรับข้อเสนอของศูนย์ที่จะให้ MMTH ส่งคนมาตรวจสอบอาการรถ โดยอาจต้องทิ้งรถไว้ให้เขาตรวจสอบซึ่งจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนก็ไม่รู้ เขาจะทำอะไรกับเราเราบ้างก็ไม่รู้ รถจะเสียหายเพิ่มขึ้นอีกแค่ไหนก็ไม่รู้ เขาจะรับผิดชอบความเสียหายเหล่านั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราจะไม่ได้ใช้รถที่เรารักไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แล้วเรื่องในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง เทียบกับ
2. รับรถกลับไปซ่อมเองแล้วจบเรื่องราวยืดเยื้อนี้ซะเพราะเราเป็นคนทำมาหากินไม่ได้มีเวลาว่างเอารถตัวเองมาให้ใครถอดเข้าถอดออกจนมีความเสียหายต่อเนื่องเกิดขึ้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นพวกพี่จะแน่ในได้อย่างไรว่าศูนย์จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดเพิ่มเติมจากการทดสอบเหล่านั้น แต่ที่แน่ๆคือพี่ต้องเสียเวลาและเสียสุขภาพจิตอย่างมากแน่ๆ!!!
ในสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเลือกตัดสินใจเหมือนกับที่ผมเลือก ซึ่งในวันนั้นหลังจากปรึกษากับพี่นะและพี่ตูมตามแล้วผมตัดสินใจรับรถกลับมาซ่อมเองเพราะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่จะทำให้ผมได้รถกลับมาใช้ในสภาพเดิม แต่ความรู้สึกของผมในวันนั้นคือผมต้องรับภาระทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อพิสูจน์ความผิดพลาดที่ผมไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นตั้งแต่แรก สิ่งที่เกิดขึ้นกับรถผมอาจจะเป็นผลมาจากความไม่สมบูรณ์ของอะไหล่จากโรงงานผู้ผลิตหรืออาจเกิดจากขั้นตอนการดำเนินการที่บกพร่องโดยช่างของศูนย์ที่ไม่ได้ไล่อากาศในหม้อน้ำรถผมให้ดีในวันที่เข้าเช็ค 100,000 กม. แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเลยที่จะได้รับการพิสูจน์จากฝั่งผู้ขาย/ผู้ผลิต ในฐานะลูกค้า/ผู้บริโภคเรากลับต้องรับภาระในการพิสูจน์ความผิดปกติเหล่านั้นไว้เองโดยปราศจากการสนับสนุนช่วยเหลือจากบริษัทผู้ผลิต/ผู้ให้บริการใดๆทั้งสิ้น แต่เอาหล่ะ...ผมขอจบเรื่องราวระหว่างผมกับศูนย์บริการไว้เพียงเท่านี้นะครับ ต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องการจัดซ่อมเจ้าปาวาฬของผมต่อไปเลยละกัน
ป.ล. วันที่ 25 สิงหาคม 2557 ทางศูนย์ Call Center ของ MMTH ติดต่อผมกลับมาโดยแจ้งว่าตามปกติอะไหล่หรือวัสดุสิ้นเปลืองที่ทางมิตซูฯมีการผลิตเองอยู่แล้ว เช่น น้ำยาหม้อน้ำหรือของเหลวต่างๆสำหรับใช้กับเครื่องยนต์นั้น มีข้อกำหนดให้ศูนย์บริการต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของทางมิตซูฯเท่านั้น ในกรณีที่ทางมิตซูไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ตีตรายี่ห้อของมิตซูเองก็จะอนุโลมโดยถือเป็นสิทธิ์ของศูนย์ที่จะพิจารณาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นเป็นการทดแทนได้ และในกรณีที่ผมได้สอบถามไปก่อนหน้านี้นั้นถือว่าศูนย์แห่งนี้ได้กระทำผิดหลักเกณฑ์ของทางมิตซูและกำลังถูก MMTH พิจารณาโทษอยู่ครับ[/i]
หยก วาฬน้ำเงิน:
ตอนที่ 5: ทางรอดของวาฬน้ำเงิน
เย็นวันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2557 ผมนำเจ้าปาวาฬไปส่งที่ศูนย์อนามัยประจำตำบลที่ไว้ใจได้แห่งหนึ่ง เนื่องจากหมอประจำอนามัยเคยทราบอาการเจ้าปาวาฬมาก่อนหน้านี้แล้วจึงตระเตรียมหยูกยาและห้องผ่าตัดไว้พร้อมสรรพสำหรับรักษาอาการตัวร้อนของเจ้าปาวาฬโดยด่วนที่สุด (ขออนุญาตนำภาพถ่ายบางส่วนที่ได้รับการแชร์จากพี่ตูมตามมาลงไว้ด้วยนะครับ) :L4399: :L4399:
ตะกรันจับกันเป็นก้อนด้านในท่อน้ำหล่อเย็น
จุดที่ปะเก็นแล็บจนน้ำสามารถวิ่งผ่านเข้าไปในลูกสูบได้
สภาพเครื่องหลังทำความสะอาดเรียบร้อยเตรียมประกอบร่าง
สภาพฝาสูบที่โดนปาดออกไป 0.4 มม.
พ่นปะเก็นทองแดงเพื่อเสริมความแข็งแรงของปะเก็นใหม่
จัดน็อต+ปะเก็นใหม่ทั้งหมดเพื่อเสริมความแข็งแรงของเครื่องยนต์
คราบตะกรันที่ยังตกค้างอยู่ในระบบระบายความร้อน
สภาพวาล์วน้ำเดิมที่ถูกตะกรันเกาะจนยัน
น้ำในหม้อน้ำในการไล่น้ำครั้งแรกหลังจากประกอบเครื่องใหม่ๆ
ผ่านไปซักพัก
เศษตะกอน/ตะกรันที่ยังคงเหลืออยู่ในระบบหล่อเย็นหลังจากถ่ายน้ำออกแล้วหลายครั้ง
พาเจ้าปาวาฬไปอาบน้ำครั้งแรกหลังออกจากสถานีอนามัย
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version