มาแนะนำให้รู้จักกับ "บ้านนาสะอุ้ง" หมู่บ้านที่เราจะไปบริจาคของกันก่อนครับ
Credit ภาพจาก www.puburapha.com
Credit ภาพจาก supon2010.blogspot.comหมู่บ้านนาสะอุ้ง เป็นหมู่บ้านของชน "เผ่าถิ่น" มีประชากรประมาณ 200กว่าคน เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับบ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นจากการนำผู้อพยพที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศลาว เข้ามาทางจังหวัดนครพนม และในปี 2538 ตามมติครม. ได้ย้ายผู้อพยพ 50 ครอบครัวจากจำนวนหลายพันคน เข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านนาสะอุ้งตามที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ทำการสำรวจและเห็นว่าเหมาะสมที่จะจัดเป็นพื้นที่สำหรับผู้อพยพ
แต่ความเป็นมาของชน "เผ่าถิ่น" เหล่านี้นั้น จริงๆแล้วพวกเขาก็เป็นคนไทย ไม่ใช่คนที่ลาวที่อพยพเข้ามาแต่อย่างใด......ชน "เผ่าถิ่น" เหล่านี้เดิมนั้นมีถิ่นอาศัยอยู่แถวทุ่งหัวช้าง เชียงกลาง และปัว ในเขตจังหวัด ซึ่งในช่วงปี 2511-2513 ในบริเวณนี้เป็นเขตพื้นที่สีแดง ที่มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ปฏิบัติการอย่างรุนแรง คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งจากการรุกรานของกลุ่มผู้ก่อการร้าย การถูกบังคับให้เลือกสนับสนุนผู้ก่อการร้าย และได้รับผลกระทบหนักยิ่งขึ้นจากการปฏิบัติการทางทหารในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย จากการคุกคามดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเหล่านี้อพยพเพื่อหนีภัยคอมมิวนิสต์เข้าไปในเขตพื้นที่ของประเทศลาว ได้เข้าไปพักอาศัยทำมาหากินกันอยู่ในเขตเมืองสายะบุรีประเทศลาว แต่หลังจากที่ประเทศลาวได้เปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ต้องอพยพลี้ภัยอีกครั้ง แต่จะกลับไปที่ถิ่นที่อยู่เดิมนั้นก็ไม่ได้ เนื่องจากการปะทะกันระหว่างทหารกับผู้ก่อการร้ายในบริเวณนั้นยังมีอยู่ จึงอพยพเข้ามาในเขตประเทศไทยโดยยอมเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพที่ถูกจัดตั้งขึ้นหลายแห่งในช่วงนั้น
เมื่อชาวบ้านเหล่านี้อพยพเข้ามาในศูนย์อพยพแล้ว ก็พยายามแสดงตัวว่าเป็นคนไทย มิใช่คนลาวที่หลบหนีอพยพเข้าเมือง แต่ด้วยหลักฐานการยืนยันความเป็นคนไทย เช่นใบเกิด ใบสมรสนั้น ได้สูญหายไปหมดจากการอพยพ และจากสงคราม ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ถูกกักกันไว้ในศูนย์อพยพหลายปี มีการย้ายศูนย์อพยพหลายต่อหลายครั้ง พออยู่ศูนย์นี้ได้พักนึง ศูนย์นี้จะปิดก็ต้องย้ายไป ระหว่างการย้ายศูนย์อพยพไปตามศูนย์ต่างๆนั้น มีการพลัดหลง พลัดพรากจากครอบครัวกันมาก บางคนพลัดพรากจากครอบครัวและไม่ได้กลับมาพบหน้ากันอีกเลย เนื่องจากเอกสารแสดงความเป็นพลเมืองไทยได้สูญหายไปหมดแล้ว การคัดแยกว่าคนใดเป็นคนไทยคนใดเป็นคนลาวจึงทำได้ยาก ในสมัยนั้นถึงกับต้องมีการให้เจ้าหน้าที่ทางราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว แต่เคยทำงานในเขตพื้นที่เดียวกับชาวบ้านเหล่านี้มาชี้ตัวกันเลย.....เรียกว่าจำหน้ากันได้ว่างั้น......แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เนื่องจาก การอพยพต่างๆนั้นใช้เวลานานหลายปี....เด็กที่เกิดใหม่ก็ไม่มีใบเกิด คนที่แต่งงานกันก็ไม่มีหลักฐาน เด็กที่สูญเสียพ่อแม่ไปแล้วก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นลูกใคร.......ปัญหาเรื่องนี้จึงยังมีต่อไป ทำให้ชาวบ้านแทนที่จะได้กลับถิ่นฐานเดิม หรือได้รับการปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองไทยอื่นๆ กลับได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้อพยพ.....พลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ พลัดพรากจากครอบครัว พลัดพรากจากคนที่รัก
จนกระทั่งปี 2536 หรือประมาณ 20กว่าปี หลังจากชาวบ้านเหล่านี้ได้อพยพหนีภัยสงครามจากถิ่นที่อยู่เดิม คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ชาวบ้านเหล่านี้เป็น "คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย" และได้รับรองคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็น "ไทย" ในภายหลัง หลังจากมีการแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติแล้ว คนเหล่านี้ก็ยังต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน จนในปี 2537 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการที่จะให้ชาวบ้านเหล่านี้มีถิ่นที่อยู่ที่ทำกินอย่างถาวร ตามโครงการรองรับชาวเขาอพยพจากศูนย์อพยพ เข้ามาในพื้นที่นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์
โดยในระยะแรกนั้น ได้มีการเสนอพื้นที่ในนิคมสร้างตนเองฯ และพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยคนพื้นราบ ให้เป็นที่อยู่ของชาวบ้านเหล่านี้ แต่ถูกคัดค้านจากราษฎรพื้นราบอย่างหนักจนทำให้ต้องยกเลิกไป และได้ทำการสำรวจพื้นที่ใหม่จนได้ข้อสรุปว่ามีพื้นที่ 2 แห่งสำหรับชาวบ้านกลุ่มนี้คือ ที่บ้านหมันขาว อ.ด่านซ้าย และบ้านนาสะอุ้ง อ.หล่มเก่า ชาวบ้านจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้
สำหรับที่บ้านนาสะอุ้งนั้น ถึงแม้จะได้ถิ่นที่อยู่แล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังประสบปัญหาเรื่องที่ทำกินอยู่ เนื่องจากพื้นที่บริเวณทับเบิกนั้น ส่วนใหญ่ถูกจับจองเป็นพื้นที่ทำกินของชาวม้งที่อพยพมาอยู่ที่นี่ก่อนแล้วไปเกือบทั้งหมด พื้นที่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ทำให้ชาวบ้านนาสะอุ้งขาดพื้นที่ทำกิน ถนนหนทางก็ไม่ได้รับการพัฒนาเนื่องจากเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก เคยมีโรงเรียนก็ปิดไปเนื่องจากประชากรมีน้อย เด็กๆต้องเดินทางมาเรียนที่บ้านทับเบิกแทน ที่บ้านนาสะอุ้งเหลือเพียงศูนย์ที่รับเลี้ยงเด็กเล็กเท่านั้น จากการไม่มีที่ทำกินจึงทำให้ชาวบ้านอยู่กันในสภาพอดอยากจนก่อปัญหาในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าตามมา เนื่องจากได้รับการจ้างให้ไปตัดไม้มาขาย และตัดไม้เพื่อบุกรุกหาพื้นที่ทำกิน นอกจากนั้นเนื่องจากถนนหนทางยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังนั้นการเข้าถึงจึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าฝน การเดินทางค่อนข้างลำบาก การบริจาคข้าวของจากผู้ที่มีใจกุศลจึงมักมาไม่ค่อยถึงชาวบ้านในหมู่บ้านนี้
นี่แหละครับ เรื่องราวคร่าวๆของชาวบ้านนาสะอุ้ง ที่เป็นคนไทย แต่ต้องมากลายเป็นผู้อพยพจากไฟสงคราม และยังได้รับความลำบากอยู่จนทุกวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจากพี่ประสิทธิ์ และเนื้อหาบางส่วนจาก supon2010.blogspot.comสำหรับข้าวของที่เราจะนำไปบริจาคกันนั้นจะรีบแจ้งให้ทราบกันนะครับ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับผู้นำชุมชนบ้านนาสะอุ้งกันอยู่ครับ....ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับพี่ๆที่มีจิตกุศลร่วมทำบุญทำทานบริจาคข้าวของในครั้งนี้ครับผมเอาภาพเส้นทางการเดินทางระหว่างบ้านทับเบิก มาบ้านนาสะอุ้งมาให้ชมกันครับ......นี่แหละครับเป็นเส้นทางที่เราจะได้ทดสอบน้องปาร่วมกัน......เห็นภาพไม่ต้องตกใจนะครับ......พี่ประสิทธิ์ยืนยันว่าน้องปาขับเคลื่อน 2 ล้อผ่านได้สบายครับ (เฉพาะในหน้าแล้งนะจ้า)

Credit ภาพจาก คุณkobkadkad จาก www.weekendhobby.com