Pa Mania Tales (เรื่องเล่าปามาเนีย) > Technics, Maintenance & Problem solving

มาทำความเข้าใจกับการทำงานของบริษัทรถยนต์กันดีกว่า

(1/8) > >>

ตูมตาม:
สวัสดีครับพี่ๆทุกท่าน วันนี้อยากจะมานำเสนอข้อมูลและมุมมองต่อบริษัทรถยนต์นะครับ ทั้งหมดที่เขียนมานั้นมาจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับบริษัทรถยนต์ชั้นนำมาหลายบริษัทมาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเจ้าตลาดทั้ง 2 ยี่ห้อ และเพราะมีโอกาสได้ทำงานกับทั้งบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ทำให้ผมมีมุมมองต่อการทำงานของบริษัทรถยนต์ และอยากจะเอามุมมองนี้มาแชร์ให้ฟังนะครับ

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจระบบการทำงานของบริษัทเหล่านี้ เราจะเข้าใจในเหตุผลหลายๆประการ เช่น อะไหล่ที่มีปัญหาประจำทำไมไม่เปลี่ยนให้มีคุณภาพสูงขึ้น การเคลมทำไมมันยากจัง ช่างศูนย์มีความรู้จริงหรือไม่ ฯลฯ และเมื่อเราเข้าใจแล้ว การที่เราจะต้องไป deal กับบริษัทจะทำให้เราสามารถรู้ว่าจะ Deal อย่างไรจึงจะได้ผลอย่างที่ต้องการ รวมถึงจะได้เข้าใจว่าบางครั้งความต้องการของเรามันจะมากเกินไปที่จะบริษัทเขาจะรับได้หรือไม่

เท่าที่ list หัวข้อไว้ในใจ ... คิดว่าคงกลายเป็นมหากาพย์อีกเรื่องนึงเลยนะครับ  :sd42: :sd42: คงเขียนวันเดียวไม่จบ ... เอาแบบเป็นตอนๆไปละกันนะครับ จะได้ติดตามกันยาวๆไปครับ

 :sd23: :sd23:

ตูมตาม:
ตอนที่1 Revolution ของบริษัทรถยนต์ในประเทศไทย

เปิดตอนแรกมา ขอเริ่มจากการทำความเข้าใจในสถานะของบริษัทรถยนต์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริหารกันก่อนนะครับ เพราะบริษัทรถยนต์เหล่านี้ทั้งหมดเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ที่มีโครงสร้างในการบริหารงานแตกต่างจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศเดียว (Single National Company) และจะทำให้เราเข้าใจว่าบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยนั้นสามารถทำอะไรได้ หรือไม่ได้บ้าง

บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในประเทศไทยมองประเทศไทยอยู่ใน 2 สถานะ คือ 1 เป็นตลาดที่มีความมั่นคงสูง รถญี่ปุ่นมีสถานแข็งแกร่งในตลาดประเทศไทย สามารถทำตลาดได้ไม่ยากมากนัก 2 เป็นฐานการผลิต เพื่อการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคแถบ ASEAN และ OCEANIA เป็นหลัก

ด้วยการที่ประเทศไทยถูกมองว่ามี 2 สถานะ ในสมัยก่อนจึงมีการแยกความรับผิดชอบในแต่ละสถานะออกจากกัน โดยตัวบริษัทญี่ปุ่นเน้นหนักในด้านการผลิตและการส่งออกซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนมากกว่า ส่วนการทำตลาดนั้น บริษัทญี่ปุ่นจะใช้วิธีแต่งตั้งตัวแทนเข้ามาดำเนินการ โดยแต่งตั้งบริษัทคนไทยเข้ามาบริหารด้านการขาย การตลาด รวมถึงการควบคุม ดูแล Dealer ทั้งหมด สมัยก่อนจะเห็นบริษัทรถญึ่ปุ่นใช้ระบบแยกบริหารแบบนี้กันหลายยี่ห้อ ยกเว้น 2 ยี่ห้อเจ้าตลาดคือ Toyota และ Honda นั้นถึงแม้จะมีการแต่งตั้งคนไทยเป็นประธานกรรมการ แต่อำนาจบริหารที่แท้จริงยังอยู่ในมือคนญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าทั้ง 2 ยี่ห้อนั้นไม่ได้แบ่งการบริหารอย่างที่เจ้าอื่นๆทำกัน

ส่วนยี่ห้ออื่นๆนั้นจะแต่งตั้งตัวแทนคนไทยมาบริหารด้านการขายและการตลาดในประเทศ เช่น NISSAN ที่แต่งตั้งตระกูลพรประภาเข้ามาบริหาร หรือ Mitsubishi เมื่อก่อนก็แต่งตั้งตระกูลเพนียงเวศเป็นผู้บริหาร แม้แต่รถยุโรปก็ยังให้บริษัทยนตกิจเป็นผู้ทำตลาดในประเทศมาอย่างยาวนาน ซึ่งการบริหารงานแบบนี้ทำให้ความสามารถในการทำตลาดของบริษัทรถยนต์เหล่านี้ขึ้นกับประสิทธิภาพในการบริหารงานของตัวแทนที่ได้แต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งหมายความว่าตัวแทนเหล่านี้จะต้องเจอการแข่งขันกับ Toyota และ Honda ที่บริหารงานโดยคนญี่ปุ่น และไม่ต้องบอกก็คงทราบว่าประสิทธิภาพในการบริหารงานของเหล่าตระกูลใหญ่คนไทยเหล่านี้กับนักบริหารมืออาชีพคนญี่ปุ่นใครจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

เมื่อเวลาผ่านไป ยี่ห้อ Toyota และ Honda ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่ยี่ห้ออื่นนั้นดูเหมือนจะอ่อนลงทุกวัน จนมีอยู่ช่วงหนึ่งนั้นคนไทยถ้าจะซื้อรถญี่ปุ่นจะดูอยู่แค่ 2 ยี่ห้อแต่นั้น ยี่ห้ออื่นแทบไม่ได้ขายเลย แทบจะม้วนเสื่อออกจากตลาดไปเลยก็ว่าได้ จนบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นอดทนไม่ไหวจึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหาร โดยดึงอำนาจในการบริหารสำหรับการทำตลาดในประเทศไทยกลับไป บางบริษัทยังให้ตัวแทนเดิมถือหุ้น มีตำแหน่งลอยๆให้นั่งแต่ไม่มีอำนาจบริหาร แต่บางบริษัทก็ตัดสัมพันธ์กับตัวแทนเดิมไปเลย ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ การเปลี่ยนแปลงนี้หมายความว่าบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ส่งคนของตัวเองเข้ามานั่งบริหารเองทั้งหมด และเป็นการรวบอำนาจทั้งการบริหารการผลิต และการทำตลาดในประเทศไทยไว้ภายใต้บริษัทเดียวกัน บริหารโดยทีมบริหารสูงสุดชุดเดียวกัน ทั้ง NISSAN และ MITSUBISHI ต่างก็ดำเนินการเช่นนี้เหมือนกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมถึงเจ้าแห่งรถยุโรปอย่าง BENZ และ BMW ก็ดำเนินการเช่นนี้เช่นเดียวกัน

และการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นพื้นฐานของระบบการบริหารในปัจจุบัน และเป็นตัวกำหนดบทบาทและสถานะของบริษัทรถที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดเช่นกัน

 :L4399: :L4399:

ตูมตาม:
ตอนที่ 2 สถานะของบริษัทรถยนต์ที่อยู่ในประเทศไทย

หลังจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่นทำการยึดอำนาจในการบริหารคืนจากตัวแทนคนไทยแล้ว การบริหารในแบบใหม่จึงเกิดขึ้น นั่นคือบริษัทในประเทศไทยจึงแปลงร่างจากที่เป็น "ตัวแทน" กลายเป็น "บริษัทลูก" ซึ่งมีความแตกต่างกันในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทในไทยและบริษัทแม่ในญี่ปุ่น

"ตัวแทน" หรือที่เรียกว่า Sole Distributor ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทในญี่ปุ่นให้ดำเนินการด้านการขายและการตลาดภายในประเทศไทย ในการเป็นตัวแทนนั้น การบริหารงานของตัวแทนจะเป็นเอกเทศ ไม่ได้ขึ้นกับบริษัทในญี่ปุ่นทั้งหมด 100% อาจมีการรับนโยบายบางอย่างมาบ้าง แต่นโยบายส่วนใหญ่จะสามารถบริหารจัดการด้วยตนเอง นั่นหมายความว่าหาก "ตัวแทน" มีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่เห็นด้วยกับอะไรก็แล้วแต่ยังสามารถ "เจรจา" กับบริษัทในญี่ปุ่นได้ หรือแม้แต่ร้องขอการสนับสนุน หรือความช่วยเหลือก็จะผ่าน "การเจรจา" ในลักษณะองค์กรต่อองค์กร ถึงแม้ว่าอาจไม่ได้ขอได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ยังมีอำนาจหรือมีสถานะในการ "เจรจา" ได้

"บริษัทลูก" ซึ่งเป็นบริษัทที่ต้องรับนโยบายทุกอย่างจากบริษัทแม่ แม้แต่ผู้บริหารของบริษัทลูกก็ยังแต่งตั้งโดยบริษัทแม่ เป็นการบริหารในลักษณะที่ผู้บริหารบริษัทในญี่ปุ่นส่ง "ลูกน้อง" มานั่งบริหารบริษัทที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้นการรับนโยบายต่างๆจึงต้องรับนโยบายแบบ 100% แล้วการอยู่ในฐานะของ "ลูกน้อง" จะไป "เจรจา" อะไรกับบริษัทแม่ได้ ไม่ได้หรอกครับ เป็นลูกน้องจะไปเจรจาอะไรกับเจ้านาย การบริหารในปัจจุบันจึงเป็นแบบก้มหัวทำไปตามที่นายสั่ง ยิ่งคนญี่ปุ่นถือระบบ Seniority แบบบ้าคลั่ง ไม่มีหรอกครับที่ลูกน้องจะไป "เจรจา" กับเจ้านาย ดังนั้นการการบริหารของบริษัทรถในปัจจุบันจึงเป็นแบบ "เจ้านายญี่ปุ่น" กับ "ลูกน้องญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย"

ส่วนการรับนโยบายจากเจ้านายญี่ปุ่น ถามว่าต้องรับนโยบายอะไรมาบ้าง บอกได้ว่านโยบายหลักๆทุกอย่างครับ ไม่ใช่ว่ารับนโยบายจากการสั่งอย่างเดียว อย่าลืมว่าลูกน้องในประเทศไทยก็เป็นคนญี่ปุ่น ทำงานในบริษัทที่ญี่ปุ่นมานานเป็นสิบๆปีกว่าจะมียศมีตำแหน่งจนได้มาอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นนโยบายเหล่านี้จึงฝังรากลึกอยู่ใน DNA ของคนญี่ปุ่นที่มานั่งเป็นประธานบริษัทในประเทศไทยด้วย

ยกตัวอย่างเรื่องเล็กๆอย่างการทำโฆษณารถซักรุ่นนึง Concept ทั้งหมดยังถูกออกแบบมาโดยฝ่ายการตลาดในญี่ปุ่น แล้วส่งมาให้ฝ่ายการตลาดในประเทศไทย เพื่อนำมาแปลความและออกแบบในแง่ของการ Implement ให้เหมาะกับคนไทยเท่านั้น แต่จะต้องไม่หลุดจากกรอบ Concept ที่ญี่ปุ่นวางไว้ ดังนั้นถ้างานเล็กๆอย่างโฆษณายังต้องรับ concept จากบริษัทแม่ เรื่องสินค้าหรือตัวรถยิ่งไม่ต้องพูดถึงครับ บริษัทในเมืองไทยกว่าจะได้เห็นรูปร่างหน้าตาของรถรุ่นใหม่ก็ตอนออกแบบเสร็จแล้ว บางทีโรงงาน Supplier ยังเห็นรูปร่างหน้าตาก่อนบริษัทในไทยเสียอีก เพราะต้องส่งแบบมาทดสอบด้านการผลิต ดังนั้นบริษัทในประเทศไทยจะไปชี้นิ้วว่าตรงนั้นไม่ดี ตรงนั้นไม่สวยก็คงทำไม่ได้ เพราะมาเห็นตอนมันเสร็จเป็นตัวเป็นตนออกมาแล้ว

ในเรื่องของตัวรถนั้น โรงงานผลิตอยู่ในประเทศไทยก็จริงครับ แต่การออกแบบทั้งหมดมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยมี R&D Head Office ในญี่ปุ่นเป็นคนรับหน้าที่นี้ทั้งหมด แล้วถามว่า R&D ในประเทศไทยมีหรือไม่ ตอบว่ามีครับ แต่หน้าที่ส่วนใหญ่คือการเก็บข้อมูลในประเทศไทย ตามคำสั่งของญี่ปุ่น แล้วส่งข้อมูลกลับไปให้ Head Office ในญี่ปุ่นเป็นคนพิจารณา และ Head Office ก็ไม่ได้เอาข้อมูลจากประเทศไทยอย่างเดียวในการพิจารณา แต่เขาจะเก็บข้อมูลจากประเทศที่เป็นตลาดหลักๆทุกประเทศ ที่มีประมาณ 10 กว่าประเทศ ในการพิจารณาออกแบบ ดังนั้น comment หรือข้อมูลที่ไปจากประเทศไทย ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าประเทศที่เหลือเขาไม่ได้มีความต้องการหรือมี comment แบบเดียวกับประเทศไทย ส่วนใหญ่ความต้องการเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการพิจารณาซักเท่าไหร่ครับเพราะ Head Office เขามองถึงการออกขายทั่วโลกไม่ได้มองมาที่ประเทศไทยประเทศเดียว ดังนั้นข้อมูลที่จะได้รับการพิจารณายอมรับนั้นจะต้องมาจากหลายๆประเทศด้วย ประเทศไทยจะพูดอยู่ประเทศเดียวเขาก็ไม่แลหรอกครับ

เท่าที่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทรถมา ผมเห็นมีเพียงบริษัทเดียวที่ยึดถือ comment ของประเทศไทยเป็นหลักคือบริษัท Honda Motorcycle ครับ เพราะ R&D Head Office ของ Honda มอเตอร์ไซด์นั้นตั้งอยู่ที่ประเทศไทย บริหารงานโดยคนญี่ปุ่น แต่มาตั้งในประเทศไทย มีทีมงานส่วนใหญ่เป็นคนไทย และการออกแบบส่วนใหญ่ทำในประเทศไทย อาศัยข้อมูลจากคนไทยเป็นหลัก เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น เพราะในประเทศญี่ปุ่นเขาไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซด์กันเยอะแยะอย่างในบ้านเรา ดังนั้นการจะเอาข้อมูลคนญี่ปุ่นมาออกแบบคงไม่เหมาะ เขาจึงมาตั้ง R&D ในประเทศไทย และถือว่าคนไทยเป็นตัวแทนของคนขี่มอเตอร์ไซด์ที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการออกแบบรถได้ดีครับ

หากพี่ๆได้เคยเข้าไปอ่านในบางที่บางเว็บที่มีการก่นด่า MMTH ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ทำไมออกแบบมาเป็นแบบนี้ ทำไมไม่ออกแบบเป็นแบบโน้น ก่นด่าเข้าไปเถอะครับ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก เพราะ MMTH ก็เป็นแค่ลุกน้องหนึ่งในหลายๆสิบคนของ MM Japan เท่านั้นเอง หากไม่มีนโยบายมาจากญี่ปุ่น MMTH ก็ไม่ทำหรอกครับ ถึงแม้เขาจะเห็นด้วยอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะมันต้องไปขอเป็นนโยบายจากญี่ปุ่นมาก่อน ดังนั้นหากรู้และเข้าใจตรงจุดนี้แล้วก็ไม่ต้องไปก่นด่า MMTH หรือบริษัทรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยให้เมื่อยหรอกครับ เสียงของลูกค้าคนไทยแค่หยิบมือมีหรือจะดังกว่านโยบายที่เจ้านายสั่งมา

ขอยกตัวอย่างอีกตัวอย่างนึงนะครับ เอาเรื่องแกนพวงมาลัยแล้วกัน อย่างที่เราทราบกันดีว่าน้องปามีบางคันที่มีอาการพวงมาลัยฝืด (ไม่อยากใช้คำว่าล็อคนะครับ เพราะมันไม่ได้ล็อค มันแค่ฝืดๆ) ปัญหานี้ต้นเหตุมาจากลูกปืนคอพวงมาลัย เวลามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วขอเคลม ทาง MMTH จะเคลมมาให้ทั้งแกนพวงมาลัยเลย ทั้งๆที่จริงๆมันเสียแค่ลูกปืน หลายคนก็งงว่าแล้วทำไมไม่เคลมลูกปืนอย่างเดียวฟระ เคลมมาทำไมทั้งแกน ต้องมานั่งรื้อรถเยอะแยะ ตอบได้เลยว่า เพราะ Part Number สำหรับลูกปืนไม่มีครับ คือมันเป็น Part Number เดียวกันทั้งแกนทั้งลูกปืน ดังนั้นพอส่งเรื่องเคลม ใส่ Part Number เข้าไป ก็เลยได้มาทั้งแกนพวงมาลัย แล้วถามว่าทำไม MMTH ไม่เปลี่ยนแปลง ทำไมไม่แยก Part Number ลูกปืนออกมา ตอบว่าทำไม่ได้ครับ Part Number นั้นใช้ทั้งโลก มันเหมือนกันทั้งโลก MMTH จะเอาสิทธิอะไรไปเปลี่ยน ต่อให้อยากจะทำก็ได้แค่เอาไปเสนอที่ญี่ปุ่น และถ้าประเทศอื่นๆเขาไม่ได้มีปัญหานี้เยอะๆ มันก็เหมือนเป็นเสียงลูกน้องคนหนึ่งในหลายๆสิบคน ถามว่าเจ้านายจะสนใจหรือครับ ก็คงไม่ ดังนั้นเรื่องการเคลมแล้วได้มาทั้งแกนพวงมาลัยจึงยังเป็นแบบนี้อยู่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หรือเรื่องของโช๊คเทพ ที่มักจะรั่ว มักจะซึมกันเยอะแยะ ถามว่าโดยลูกค้าเข้าเคลมซะขนาดนี้ทำไม MMTH ไม่แก้ไข ไม่ใช้อะไหล่ที่มีคุณภาพมากกว่านี้ ก็เหมือนกับกรณีแกนพวงมาลัยครับ การกำหนด spec อะไหล่นั้น ญี่ปุ่นกำหนดมาเรียบร้อย ฝ่ายบริษัทในไทยเพียงแค่หา Supplier หรือสั่ง Supplier ให้ผลิตตาม spec ที่ถูกกำหนดมาเท่านั้น ไปแก้ spec เองเลยก็ไม่ได้หรอกครับ เพราะเขาผลิตเพื่อขายทั้งโลก สิ่งที่ MMTH พอทำได้คือ Feedback ไปที่ญี่ปุ่นว่าโช๊ค spec นี้มันมีปัญหาเยอะ ลูกค้าเคลมกันเยอะ เมื่อญี่ปุ่นรับฟังแล้ว ในฐานะเจ้านายที่ไม่ได้มีประเทศไทยเป็นลูกน้องคนเดียว ก็ต้องไปถามๆดูลูกน้องประเทศอื่นๆด้วย แล้วถ้าประเทศอื่นๆเขาไม่ได้มีปัญหากันเยอะ (อาจเป็นเพราะเจ้าของไม่ได้ไปมุดดูกันเยอะแยะอย่างเมืองไทยก็ได้นะ) ถามว่าเจ้านายจะเปลี่ยนหรือครับ ในเมื่อรถมันก็ยังขายได้ดี ประเทศอื่นๆเขาก็ไม่ได้เคลมกันเยอะแยะ มันก็เลยยังเหมือนเดิมอยู่อย่างงี้แหละครับ ไม่ว่าจะซื้อรุ่นไหนก็ได้โช๊คเทพเหมือนกัน  :sd42: :sd42:

ถ้าเข้าใจจุดของ "เจ้านาย" และ "ลูกน้อง" แบบนี้จะได้ทำใจได้ครับ ไม่ต้องไปก่นด่า MMTH ที่เป็นแค่ "ลูกน้อง" และถ้าเข้าใจวิธีการบริหารของเจ้านายที่ญี่ปุ่น ที่ไม่ได้มีแค่ลูกน้องประเทศไทยประเทศเดียว แต่มีลูกน้องตั้งหลายสิบประเทศ การจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องคำนึงถึงประเทศอื่นๆด้วย ก็จะได้ทำใจได้ง่ายขึ้นอีกนิดนึงครับ  :sd42: :sd42:

มันเป็นแบบนี้ทุกยี่ห้อแหละครับ ไม่ใช่เฉพาะมิตซูบิชิหรอกจ้า  :L2754: :L2754:

พี่โต้ง Tongsom:
เสริมครับ การบริหาร ของ Mitsu and Nissan ทำแบบครอบครัว รุ่นเดิมๆเพราะสร้างมากับมือ และ Vision แบบไทยๆ ค่อนข้างจะไม่กว้างเอาเสียเลย
มองแค่ระดับ จังหวัดที่กำลังจะเจริญ แต่ไม่มองครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งมีปัญจัยหลายอย่างเช่น
- ภาคเกษตรกรรม ไม่มีเงินซื้อปิคอัพและยังไม่แพร่หลาย มีแต่ 6 ล้อ Isuzu ซะเยอะ ฝาข้างยังเป็นไม้อยู่เลย รุ่นผมนะ
- ถนนหนทาง ต่างจังหวัด ยังเป็นดินแดง มีแต่ฝุ่น รถพังหมด เป็นรุ่น คาร์บูเรเตอร์ จีงเกิดอู่ข้างถนนมากมาย
- เบนซินเยอะ กว่าดีเซล

เก่งบวกเฮง ??? เมื่อสมัยนั้น การแข่งขันน้อยมาก

ตระกูล พรประภา ผู้พ่อ ผมไม่ทัน แต่มาทันและฟังจากปาก ชอง ดร.พรเทพ พรประภา ผมอยู่กับ ตระกูลนี้มา 6 ปี
เจอเสี่ยเกือบทุกวัน มาประชุม ค้องการ Result เท่านั้น ฟังแต่คำสั่ง และมักได้ยินว่า " มึงจะรู้มากกว่ากูได้ยังไง "

ว่างๆมาต่อใหม่

ตูมตาม:

--- อ้างจาก: พี่โต้ง Tongsom ที่ 20 ธันวาคม 2013, 23:06:32 ---เสริมครับ การบริหาร ของ Mitsu and Nissan ทำแบบครอบครัว รุ่นเดิมๆเพราะสร้างมากับมือ และ Vision แบบไทยๆ ค่อนข้างจะไม่กว้างเอาเสียเลย
มองแค่ระดับ จังหวัดที่กำลังจะเจริญ แต่ไม่มองครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งมีปัญจัยหลายอย่างเช่น
- ภาคเกษตรกรรม ไม่มีเงินซื้อปิคอัพและยังไม่แพร่หลาย มีแต่ 6 ล้อ Isuzu ซะเยอะ ฝาข้างยังเป็นไม้อยู่เลย รุ่นผมนะ
- ถนนหนทาง ต่างจังหวัด ยังเป็นดินแดง มีแต่ฝุ่น รถพังหมด เป็นรุ่น คาร์บูเรเตอร์ จีงเกิดอู่ข้างถนนมากมาย
- เบนซินเยอะ กว่าดีเซล

เก่งบวกเฮง ??? เมื่อสมัยนั้น การแข่งขันน้อยมาก

ตระกูล พรประภา ผู้พ่อ ผมไม่ทัน แต่มาทันและฟังจากปาก ชอง ดร.พรเทพ พรประภา ผมอยู่กับ ตระกูลนี้มา 6 ปี
เจอเสี่ยเกือบทุกวัน มาประชุม ค้องการ Result เท่านั้น ฟังแต่คำสั่ง และมักได้ยินว่า " มึงจะรู้มากกว่ากูได้ยังไง "

ว่างๆมาต่อใหม่

--- End quote ---

ขอบคุณที่มาช่วยเสริมครับพี่โต้ง ผมก็ลืมไปว่ามีผู้รู้ตัวจริงอยู่ตรงนี้  :L2753: :L2753:

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version